หมอนรองกระดูกทับเส้น  ส่วนประกอบตรงใจกลางจะมีลักษณะเป็นของที่มีความหนืดคล้ายเจลลี่เหนียวๆ ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยเส้นใยที่ขึงล้อมหน้าหลังเปรียบเสมือนขอบยางรถยนต์ ซึ่งธรรมชาติสร้างมาเพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนที่เป็นเจลลี่แตกออกมา เพราะฉะนั้นความหมายของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเปรียบเสมือนยางรถยนต์แตก เจลลี่ที่อยู่ด้านในนั้นจะไหลออกมากดหรือเบียดเส้นประสาทที่อยู่บริเวณนั้นๆ ก่อให้เกิดอาการปวดหลังหรือสะโพกแล้วร้าวไปที่ขานั่นเอง

หมอนรองกระดูกทับเส้น คืออะไร

หมอนรองกระดูกทับเส้น เป็นโรคของความเสื่อมอย่างหนึ่ง ปกติแล้วหมอนรองกระดูกสันหลังมีลักษณะคล้าย “โช๊คอัพ” อยู่ระหว่าง กระดูกสันหลัง มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่น รองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลัง ในเวลาที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเดินหรือกระโดด ตอนเราเด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ ภายในหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีองค์ประกอบของน้ำเป็นส่วนสำคัญ

พอนานวันเข้า ของทุกอย่างย่อมเสื่อม เปอร์เซ็นต์ของน้ำในหมอนรองกระดูกสันหลังก็จะลดลง เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ หมอนรองกระดูกสันหลังของวัยหนุ่มสาวจะเหมือนกับ “ยางลบดินสอ” ที่นิ่ม ในขณะที่หมอนรองกระดูกสันหลังของคนที่มีอายุมากขึ้นจะเหมือนกับ “ยางลบหมึก” ที่ค่อนข้างแข็ง ทำให้ความยืดหยุ่นน้อยลงและเตี้ยลงลักษณะคล้ายกับ “ยางแบน” เมื่อหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนใด ก็จะมีอาการปวดแสดงออกมาตามแนวของเส้นประสาทนั้น

บริเวณที่เสื่อมหรือกดทับเส้นประสาทบ่อยที่สุด

หมอนรองกระดูกสันหลังตรงข้อด้านล่างของกระดูกเอว เป็นจุดที่มีความเสื่อมสูงสุดตามสถิติ และพบการกดทับของเส้นประสาทได้บ่อย รวมถึงหมอนรองกระดูกสันหลังที่คอที่มีโอกาสเสื่อมมากเช่นกันจากการใช้งานหนัก ทั้งนี้หากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ยุบตัวลงมา แต่ไม่กดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นก็อาจจะไม่มีอาการปวดแต่อย่างใด เช่นเดียวกันหากหมอนรองกระดูกยังไม่เสื่อม แต่บังเอิญไปกดทับเส้นประสาทก็จะมีอาการเจ็บปวดตามมา

ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นพบมากในวัยใด

ส่วนใหญ่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะเกิดกับคนไข้ 2 กลุ่ม ที่พบบ่อยคือ

  1. หมอนรองกระดูกทับเส้น กลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเริ่มมีความเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมอยู่แล้ว พอออกแรงหรือใช้แรงเบ่งมากๆ อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกออกมากดทับเส้นประสาทได้ในทันที เรียกว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทชนิดเฉียบพลัน
  2. หมอนรองกระดูกทับเส้น กลุ่มวัยหนุ่มสาวที่มี Activity มากๆ ชอบออกกำลังกายหนักๆ โลดโผน หรือเคยมีอุบัติเหตุ ย่อมมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลังได้ง่ายกว่า เปรียบเทียบง่ายๆ ฝาแฝด 2 คน เหมือนกันทุกอย่าง คนหนึ่งเรียบร้อย อีกคนชอบทำกิจกรรม เล่นบันจี้จัมพ์ อเมริกันฟุตบอล ในบั้นปลายของชีวิต คนที่มี Activity มากจะมีความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังมากกว่า อย่างไรก็ดี คนที่เรียบร้อย หากใช้งานกระดูกสันหลังไม่ถูกต้อง เช่น เป็นพวกออฟฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกสันหลังก็เสื่อมได้เช่นกัน แต่ท้ายที่สุด หมอนรองกระดูกสันหลังของทุกคนต้องเสื่อมสภาพอยู่แล้ว แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

5 วิธีเช็ค หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  1. มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา หากมีอาการปวดสะโพกหรือปวดเอวก็ตามแต่ แล้วเกิดร่วมกับอาการร้าวลงขา ไม่ว่าจะข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้างก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดแค่ข้างใดข้างหนึ่ง โดยลักษณะการร้าวลงขา ส่วนใหญ่จะร้าวไปที่ก้น หรือด้านหลังต้นขา ไปที่แถบขางขาหรือหลังขา ซึ่งจะเกิดร่วมกับอาการชาหรือไม่ก็ได้ และส่วนใหญ่อาการจะเป็นหนักตอนที่นั่งนานหรือยืนนานๆ เป็นต้น
  2. อาการอ่อนแรงที่ขาร่วมด้วย  โดยหมอให้เช็คง่ายๆ คือให้ลองกระดกข้อเท้าขึ้นหรือกระดกนิ้วโป้งเท้าขึ้นค้างไว้ หรือว่าถ้ามีเพื่อน อาจจะลองให้เพื่อนใช้มือต้านแรงตอนกระดกข้อเท้าหรือนิ้วโป้งเท้าไว้ เทียบกับอีกข้างที่ปกติก็ได้ ถ้ารู้สึกว่าอ่อนแรงกว่าอีกด้าน นั้นหมายถึงควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเลย
  3. ลองให้เพื่อนยกขาในท่านอนหงาย โดยให้เพื่อนใช้มือรองข้อเท้าแล้วยกขึ้นมาจนเข่าเหยียดตรง โดยให้ทิ้งน้ำหนักขาไปที่มือของเพื่อนทั้งหมด ห้ามเกร็งขาหรือออกแรง  ถ้าเกิดแสดงอาการปวดสะโพกร้าวลงขาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
  4. ให้สังเกตเวลา ไอ จาม เบ่ง ว่ามีอาการปวดหลังหรือสะโพกหรือไม่ นั่นอาจแสดงถึงอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือปลิ้นได้ แต่หากยังไม่มีอาการลงขา ก็อาจจะไม่ได้เคลื่อนหรือปลิ้นไปทับเส้นประสาท หากมีอาการเช่นนี้ควรที่จะต้องปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ไห้ตัวโรคเป็นไปมากกว่านี้
  5. อาการชาที่ส่วนขา หากไม่แน่ใจว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ ให้เช็คง่ายๆ โดยการใช้ไม้จิ้มฟัน มาจิ้มบริเวณที่รู้สึกชาเทียบกับขาอีกด้าน หากรู้สึกต่างกัน นั่นอาจบ่งบอกถึงอาการชา ซึ่งอาการชาในหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาจไม่ได้มีอาการตลอด แต่อาจเกิดกับบางกิจกรรมหรือบางท่า เช่นการยืนหรือนั่งนานๆ ซึ่งถ้าหากเกิดอาการนี้ขึ้นก็ควรจะมาพบแพทย์เช่นกันเพราะนั่น บ่งบอกถึงการถูกกดทับของเส้นประสาทแล้ว

เมื่อมีอาการข้างต้น ให้ทำตามวิธีต่อไปนี้

  • ไม่ต้องตื่นตระหนกและกังวลจนเกินเหตุ สำหรับคนที่กลัวว่าจะเป็นอัมพฤตหรืออัมพาต อย่ากังวลมากจนเกินไปครับ เพราะอาการของโรคนี้จะไม่ทำให้เกิดการอ่อนแรงแบบทันทีฉับพลันเหมือนโรคเส้นเลือดในสมอง อาการของโรคทางประสาท
  • หากมีอาการปวดและยังไม่อยากไปโรงพยาบาลในช่วงเวลานี้ ท่านอาจทานยาแก้ปวดได้ในช่วงสั้นๆ ระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพราะยาบางตัวไม่ควรทานในระยะยาว
  • ถ้าไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยแล้ว ท่านอาจได้รับการตรวจเอกเรย์และเอ็มอาร์ไอ ซึ่งการตรวจทั้งสองชนิดในข้อมูลที่แตกต่างกัน
  • ค้นหาต้นเหตุที่มักทำให้เกิดอาการเช่นการนั่งนานหรือการนั่งเก้าอี้ที่ผิดสุขลักษณะ การก้มหลังยกของที่ผิดวิธีมักนำมาซึ่งการกำเริบของตัวโรคได้บ่อยครั้ง และทำการแก้ไข
  • การนอน ควรนอนที่นอนที่ไม่นิ่มและไม่แข็งเกินไป ควรใช้แบบที่กระชับได้สัดส่วนพอดี สำหรับท่านอนนั้น ในกรณีท่านที่นอนหงาย อาจใช้หมอนเล็กๆหนุนใต้หัวเข่าและสำหรับใครที่นอนตะแคงให้หาหมอนมารองระหว่างเข่า 2 ข้าง
  • การกายภาพด้วยตนเองที่บ้านเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการหายของโรค สิ่งที่หมอแนะนำมี 2 ชนิด คือการยืดขาส่วนหลังและยืดกล้ามเนื้อส่วนก้น ส่วนการออกกำลังกายแกนกล้ามเนื้อกลางลำตัวมีความสำคัญมากเช่นกัน ส่วนใหญ่หมอจะแนะนำทำ 2 รอบต่อวัน รอบเช้าและเย็น

วิธีการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น

  • ลดน้ำหนักและหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง

สำหรับผู้ที่มีปัจจัยการเกิดโรคจากปัญหาน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ควรเริ่มต้นการรักษาด้วยการลดน้ำหนักแบบถูกวิธีและปลอดภัย เพื่อไม่ให้ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นมากกว่าเดิม และควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อกระดูกสันหลัง

  • กายภาพบำบัด

อีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้ผลและได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่อาการหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทไม่รุนแรงคือการทำกายภาพบำบัด ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว โดยใส่อุปกรณ์พยุงหลังร่วมด้วย

  • ยา

หากมีอาการกระดูกทับเส้นประสาทในหลายๆ ส่วน จนเกิดอาการปวด การใช้ยาลดการอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นการรักษาเบื้องต้นตามอาการสามารถช่วยลดอาการปวดและอักเสบได้

  • ผ่าตัด

เมื่อใช้การรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการบ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรค เช่น ขับถ่ายลำบาก หรือปวดจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถช่วยให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีความปลอดภัยและแม่นยำมากขึ้น ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง เสียเลือดน้อย ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

หมอนรองกระดูกทับเส้น

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการรักษา

ทุกวันนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาโรคใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา แต่ทุกเทคโนโลยีต่างก็มีข้อดี ข้อจำกัดเฉพาะของแต่ละวิธี เทคโนโลยีที่พูดถึงกันมากในช่วง 5 – 10 ปีที่ผ่านมา คือ การผ่าตัดหมอนรองกระดูกผ่านกล้อง Microscope กำลังขยายสูง และการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope ซึ่งสามารถใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปหยิบหมอนรองกระดูกที่แตกออกได้โดยตรง

ข้อดีคือแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก แต่เวลาผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยีทำให้สามารถมองเห็นเส้นประสาทและหมอนรองกระดูกที่ต้องการแก้ไขได้ชัดเจนกว่ามองด้วยตาเปล่า ซึ่งการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและไขสันหลัง หากพลาดพลั้งอาจทำให้เป็นอัมพาตได้

การบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและอวัยวะข้างเคียงน้อย ทำให้ระยะฟื้นตัวสั้น ผู้ป่วยเจ็บน้อย หายไว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว แต่จะใช้เทคโนโลยีใดในการรักษานั้น ทีมแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยคำนึงถึงการรักษาซึ่งเน้นการแก้ปัญหาที่สาเหตุเป็นหลัก

การฟื้นฟูและการปฏิบัติตัวหลังการรักษา

หลังการผ่าตัดนำหมอนรองกระดูกทับเส้นสันหลังที่กดทับเส้นประสาทออก ผู้ป่วยก็จะหายปวด แต่ควรได้รับการฟื้นฟูร่างกายภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพบำบัดที่จะสอนวิธีดูแลสุขภาพหลังอย่างถูกต้อง การออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลัง ช่วยในการพยุงกระดูกสันหลัง การปรับเปลี่ยนท่าทางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การยกของหนัก กรณีผู้บริหารควรระวังเรื่องการนั่งนานๆ ควรเปลี่ยนเก้าอี้ที่เหมาะสม หาที่รองหลังมาเสริม และไม่ควรนั่งท่าเดิมนานเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเจ็บปวดทรมานด้วยโรคนี้อีก สำหรับคุณผู้หญิง กระเป๋าสะพายหนักๆ รองเท้าส้นสูง อาจไม่ส่งผลต่อหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท แต่มีส่วนทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็ว ซึ่งรวมถึงการสูบบุหรี่ การมีน้ำหนักตัวที่มากด้วย

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้น กินยาบรรเทาได้

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยการใช้ยา ต้องประกอบไปด้วยการใช้ยาหลายชนิดเพื่อเสริมการออกฤทธิ์ระหว่างกัน (Synergistic effect) และลดผลข้างเคียง (Side effect) ของการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งในปริมาณที่มากเกินไป

โดยยาที่ใช้ในการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ประกอบไปด้วยยากลุ่มหลักๆ ดังนี้

1. NSAIDS (Non-Steroidal anti-inflammatory drugs)

เป็นยาในกลุ่มลดอาการปวดและอาการอักเสบซึ่งไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยยากลุ่มนี้มักถูกเลือกเป็นยาหลักกลุ่มแรกๆในการรักษาอาการปวดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ได้แก่  Aspirin, Iburpofen, Diclofenac, Naproxen, Indomethacin, Meloxicam, Celecoxib (Celebrex), Etoricoxib (Arcoxia) ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาในกลุ่มนี้ได้แก่ การกัดกระเพาะอาหารและการขับออกทางไต จึงมีความจำเป็นต้องระวังการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาการ กระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นโรคไต โดยยากลุ่ม NSAIDS นี้ยังสามารถแบ่งย่อยออกได้เป็นอีก 2 กลุ่ม ได้แก่

1.1 NSAIDS กลุ่ม COX-1 Inhibitor ได้แก่ Aspirin, Iburpofen, Diclofenac, Naproxen, Indomethacin ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงในเรื่องการกัดกระเพาะค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาการ หรือเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบอยู่เดิม อาจจำเป็นต้องได้รับยาลดกรดในกระเพาะควบคู่กันไปด้วย

1.2 NSAIDS กลุ่ม COX-2 Inhibitor ได้แก่ Celecoxib (Celebrex), Etoricoxib (Arcoxia) เป็นยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะน้อยกว่ายาในกลุ่ม COX-1 Inhibitor แต่อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้ ในผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดีและผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

2. ยาลดอาการปวดจากเส้นประสาท (Neuropathic pain)

ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ยา Gabapentin, Neurontin และ Pregabalin (Lyrica, Brillior) ยาในกลุ่มนี้ช่วยลดอาการปวดจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ค่อนข้างดี เพราะมีฤทธิ์ลดการส่งสัญญาณความปวดจากเส้นประสาทที่โดนกดทับ ส่วนผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่อาการง่วง เวียนหัว อ่อนเพลีย แขนขาบวม นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง จำเป็นต้องมีการปรับลดปริมาณยาที่ใช้ลง ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

3. ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxants)

เป็นยาที่ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณหลัง สะโพก และขา เพื่อช่วยลดอาการปวดที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Norgesic Mydocalm Myonal เป็นต้น โดยยาในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อนี้มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคืออาการง่วง ซึม เวียนหัว มึนงง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ปากแห้งและคอแห้ง จึงควรระมัดระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรอันตราย หรือต้องขับรถยนต์

4. ยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids

เป็นยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงเพราะเป็นสารสกัดอนุพันธ์จากมอร์ฟีน ส่วนใหญ่แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดในกลุ่มนี้ให้แก่ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่มีอาการปวดมากและไม่ตอบสนองต่อการให้ยาในกลุ่มอื่น โดยยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Tramadol Ultracet Duocetz เป็นต้น ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยได้แก่อาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน และท้องผูก นอกจากนี้ข้อควรระวังที่สำคัญที่สุดในการใช้ยากลุ่มนี้คือการเสพย์ติด ถ้ามีการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และจะพบว่ายากลุ่มนี้จะไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ต้องได้รับใบสั่งยาที่ออกจากแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น

 

ร่างกายไม่สามารถที่จะเปลี่ยนหลังหรือเปลี่ยนกระดูกสันหลังใหม่ได้ วิธีการรักษาเป็นเพียงการแก้ไขส่วนที่เสื่อมสภาพเท่านั้น ดังนั้นต้องเข้าใจว่าสุขภาพหลังนับวันมีแต่จะเสื่อมลง ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังไม่ควรปล่อยไว้ หรือหากเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไม่ควรรักษาด้วยวิธีผิดๆ เพราะอาจบาดเจ็บมากขึ้น จนส่งผลให้การรักษาทางการแพทย์ทำได้ยากและใช้เวลานานขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นอย่างถูกวิธี

 

เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ที่มาของบทความ

 

ติดตามเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพได้ที่  gogo-asuka.com

สนับสนุนโดย  ufabet369